You are here

ความเป็นมาของ "วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ หนองคาย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"

โครงการจัดตั้ง "โรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ หนองคาย"

มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เป็นองค์กรการกุศล จัดตั้งขึ้นโดยบาทหลวงเรย์มอนด์ อัลลีน เบรนนัน หรือ “คุณพ่อเรย์” โดยความเห็นชอบจากเจ้าคณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นคงให้โรงเรียน อาชีวพระมหาไถ่ พัทยา ซึ่งเปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ให้สามารถดำเนินงานตามจิตตารมณ์ของคณะพระมหาไถ่ได้อย่างยั่งยืน คือ “การช่วยเหลือผู้ที่ยากลำบากให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น และเป็นผู้มีน้ำใจเสียสละเพื่อสังคม

มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ มีโครงการจัดตั้งโรงเรียนฝึกอาชีพสำหรับคนพิการ เพื่อขยายโอกาส ทางการศึกษา การมีงานทำและไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม โดยเน้นการประกอบอาชีพอิสระ การรวมกลุ่ม หรือเป็นผู้ประกอบการ ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยั่งยืน โดยจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยไม่จำกัดอายุ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ศูนย์บริการนานาชาติ (International Services Center) บนพื้นที่ ๒๐ ไร่ ที่จังหวัดหนองคาย

โครงการจัดตั้งโรงเรียนฝึกอาชีพสำหรับคนพิการจังหวัดหนองคาย คือ “โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ หนองคาย” เป็นโรงเรียนฝึกทักษะวิชาชีพสำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหว เช่น แขน-ขาขาด อัมพาต โปลิโอ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา อาชีพ การมีงานทำและไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม โดยเน้นการประกอบอาชีพอิสระ การรวมกลุ่ม หรือเป็นผู้ประกอบการ คนพิการที่เข้ารับการศึกษามีอาหาร ๓ มื้อ ที่พัก การจัดการเรียนการสอนโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยั่งยืน โดยจัดการศึกษาชั้นพื้นฐานในรูปแบบของการศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัยโดยไม่จำกัดอายุ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บริการนานาชาติ (International Services Center) เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ การบริหารจัดการ การอบรม สัมมนา เมื่อนักเรียนจบหลักสูตรเน้นการมีงานทำ โดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการ การประกอบอาชีพอิสระ หรือการรวมกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพ บนพื้นที่ ๒๐ ไร่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า ในอนาคตจะได้ขยายผลเปิดโอกาสให้คนพิการประเทศเพื่อนบ้านมาเรียนร่วมด้วย

ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.๒๕๕๐ โดยใช้ชื่อ “วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ หนองคาย” เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรประกาศนีบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ นอกจากนี้แล้วยังมีหลักสูตรการศึกษาชั้นพื้นฐาน เพื่อช่วยเหลือคนพิการ ที่ไม่ได้เรียนหนังสือให้สามารถ อ่านออก เขียนได้ หลักสูตรเบเกอรี่ และหลักสูตรช่างวีลแชร์

ก่อนที่จะมาเป็น “วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ หนองคาย”

นางสาวสัมฤทธิ์ ศิริรัมย์ และนายเกียรติศักดิ์ แฟงชัยภูมิ เดินทางมาที่จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เพื่อมาเริ่มดำเนินงานโครงการจัดตั้ง “โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ หนองคาย” โดยมีนางสาวสัมฤทธิ์ ศิริรัมย์ เป็นผู้จัดการโครงการ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากวัดนักบุญอัลฟอนโซ ให้ใช้พื้นที่เป็นสำนักงานชั่วคราวในการทำงาน

ในช่วงเริ่มโครงการ คนในพื้นที่ยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนพิการ ยังมองคนพิการในทางลบ ส่งผลต่อการทำงาน และการประสานงานต่างๆ นอกจากงานช่วยเหลือคนพิการแล้วยังต้องปรับทัศนคติของคน การเข้าถึงคนพิการใช้วิธีการลงพื้นที่ทั้งในจังหวัดหนองคายและต่างจังหวัด ประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมให้คนพิการและคนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลข่าวสารและการทำงานของโครงการฯ นักเรียนรุ่นแรกของโครงการฯ จำนวน ๑๘ คน เริ่มเรียนในช่วงต้นเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรการพัฒนาชีวิตคุณภาพคนพิการ (หลักสูตร ๒ ปี) ในระหว่างนี้นอกจาการจัดการเรียนการสอนแล้วยังมีกิจกรรมที่สำคัญคือแผ้วถางป่าบนพื้นที่ ๒๐ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของโครงการจัดตั้ง “โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ หนองคาย”

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับ “วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ หนองคาย” ไว้ในพระราชูปถัมภ์

อ้างถึงหนังสือสำนักราชวัง ที่ รล ๐๐๑๐/๑๘๘๖ ลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๓ เรื่อง ทรงรับวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ หนองคาย อยู่ในพระราชูปถัมภ์ ตามที่มีหนังสือมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ที่ มถพ.๐๙๒/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ขอให้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานพระมหากรุณาทรงรับ วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ หนองคาย ซึ่งเป็นวิทยาลัยคนพิการแห่งแรกในประเทศไทย อยู่ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อความเป็นสิริมงคล ความแจ้งอยู่แล้ว นั้น ราชเลขานุการในพระองค์ฯ ได้นำความกราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าละอองพระบาทแล้ว ทรงรับวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ หนองคาย ไว้ในพระราชูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นมา

กิจกรรมที่สำคัญ

  • วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ จัดมหกรรม “รวมพลคนพิการจังหวัดหนองคาย” โดยมีสโลแกนในการจัดการงานคือ “สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างชีวิต”
  • วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ จัดมหกรรม “หนองคายมาราธอนมหากุศล” ครั้งที่ ๑ เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.๙) ๘๔ พรรษามหาราชา
  • วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๕ จัดมหกรรมคนพิการจังหวัดหนองคายและต้อนรับคณะจากโครงการ ๑๔๗๙ ปลุกพลังคนพิการจากบูรพาสู่อีสาน (ปัจจุบันมีสายด่วนคนพิการ ๑๔๗๙ ให้คนพิการได้โทรสอบถามเรื่องสิทธิ เรื่องการศึกษา เรื่องการมีงานทำ และทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับคนพิการ ซึ่งเกิดจากโครงการนี้)
  • วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ จัดมหกรรม “หนองคายมาราธอนมหากุศล” ครั้งที่ ๒

ด้านอาคารสถานที่

  • วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรก สนับสนุนโดย บริษัท อุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด นำโดย พันเอก ดร.ยรรยง ภัทรเลาหะ โดยมีท่าน พลเอกพิศาล รัตนวงษ์คีรี เป็นประธาน
  • วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๖ พิธีเปิดอาคารเรียน “อาคารท่อน้ำไทย ๕๐ ปี” โดย ฯพณฯ ศาสตราจารย์พิเศษอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี
  • วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ พิธีเปิดและพิธีรับมอบอาคารหอพักหญิง “อาคารการุณยภราดา” จากคุณไชย และคุณนพภาภรณ์ ณศิลวันต์
  • วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ พิธีเปิดและรับมอบอาคารเรียน บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำโดยคุณฤทธิ์ ธีระโกเมน
  • วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ พิธีเปิดและรับมอบอาคารท่อน้ำไทย ๕๓ ปี (ศูนย์เทคโนโลยีอุปกรณ์เพื่อคนพิการ) สนับสนุนการก่อสร้างโดย บริษัท อุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด นำโดย พันเอก ดร.ยรรยง ภัทระเลาหะ โดยมี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานในพิธี

ด้านหลักสูตรการเรียนการสอน

  • ปี ๒๕๕๒ หลักสูตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
  • ปี ๒๕๕๔ หลักสูตรคอมพิวเตอร์สำนักงาน
  • ปี ๒๕๕๗ หลักสูตรการเรียนการสอน
    • หลักสูตรการพัฒนาระบบสารสนเทศ (โปรแกรมเมอร์)
    • หลักสูตรคอมพิวเตอร์สำนักงาน
    • หลักสูตรการศึกษาชั้นพื้นฐาน
  • ปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๒ หลักสูตรการเรียนการสอน
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
    • หลักสูตรการศึกษาชั้นพื้นฐาน
    • หลักสูตรเบเกอรี่ (หลักสูตรระยะสั้น)
    • หลักสูตรช่างวีลแชร์ (หลักสูตรระยะสั้น)
  • ปี ๒๕๖๓ – ปัจจุบัน หลักสูตรการเรียนการสอน
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล
    • หลักสูตรการศึกษาชั้นพื้นฐาน (รับคนพิการที่ขาดโอกาสทางการศึกษา อายุ ๑๕ - ๔๕ ปี)
    • หลักสูตรระยะสั้น (คอมพิวเตอร์สำนักงาน)